ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชกรรมการในคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจกรุงเทพมหานคร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการสามัญองค์กรอิสระ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญปฏิรูปการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2549 และ อดีตประธานคณะกรรมการบริษัทอสมท. จำกัด (มหาชน)
สุรพล นิติไกรพจน์ จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเลยพิทยาคมและสำเร็จการศึกษาสาขานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบการศึกษาเนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 35 จากสำนักศึกษาอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา Dipl?me d’?tudes approfondies de droit public จากมหาวิทยาลัย Strasbourg III ประเทศฝรั่งเศส Doctorat de l’Universit? Robert Schuman de Strasbourg (mention tr?s honorable) มหาวิทยาลัย Robert Schuman ฝรั่งเศส ประกาศนียบัตรการอบรมหลักสูตร สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์นานาชาติ “การกระจายอำนาจ และ การปกครองท้องถิ่น” (IIAP.) กรุงปารีส, ฝรั่งเศส ได้รับปริญญาดูษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัย Soka ประเทศญี่ปุ่น และ ประกาศนียบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. 2553(ปรอ. 23)
สมัยเป็นนักศึกษาเคยทำกิจกรรมในพรรคแสงธรรม องค์การนักศึกษา และสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนักศึกษาร่วมรุ่นกับ สมคิด เลิศไพฑูรย์, อภิชาติ ดำดี, วสันต์ ภัยหลีกลี้, วิฑูรย์ นามบุตร, นพดล ปัทมะ, อัญชลี วานิช เทพบุตร และบุญสม อัครธรรมกุล
สุรพลรับราชการในสังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางด้านการบริหาร ได้แก่ ผู้อำนวยการโครงการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ที่ปรึกษากฎหมายสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นอกจากประสบการณ์ในด้านการบริหารมหาวิทยาลัยแล้ว สุรพลยังมีประสบการณ์อื่นอีกอาทิ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2549) ที่ปรึกษากฎหมายของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (พ.ศ. 2549) ที่ปรึกษากฎหมายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2546) ที่ปรึกษากฎหมายของประธานวุฒิสภา (พ.ศ. 2545-2547) กรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พ.ศ. 2541-2544) รวมถึง ประธานกรรมการ บมจ. อสมท. เป็นต้น
ภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 สุรพลได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการสามัญองค์กรอิสระ และรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญปฏิรูปการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- รางวัลพระราชทานเรียนดี “ทุนภูมิพล” ในฐานะผู้สำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนสูงสุดของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2524 - รางวัลโครงการวิจัยดีเด่นด้านนโยบายสาธารณะ คณะกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย พ.ศ. 2538 - รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมสาขานิติศาสตร์ ประจำปี 2541 จากสภาวิจัยแห่งชาติ - รางวัลชมเชยผลงานวิจัยสาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ประจำปี 2543 จากสภาวิจัยแห่งชาติ - รางวัลชมเชยผลงานวิจัยสาขาการศึกษา ประจำปี 2544 จากสภาวิจัยแห่งชาติ - “บุคคลแห่งปี 2545” ในฐานะนักกฎหมายตัวอย่างจากกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ (31 ธค. 2545) - รางวัลชมเชยผลงานวิจัย ประจำปี 2547 จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ - รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2547 สาขานิติศาสตร์ จากสภาวิจัยแห่งชาติ - รางวัลผู้บริหารข้าราชพลเรือนดีเด่น ครุฑทองคำ ประจำปี 2549 จากสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย
สุรพลสมรสกับจรรยา นิติไกรพจน์ มีบุตรสาว 2 คนคือ พธู นิติไกรพจน์ (ศึกษาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และ ภัทรา นิติไกรพจน์ (ศึกษาอยู่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดีอยู่ สุรพลได้ออกมาสนับสนุนกลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผ่านทางสื่ออยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้ามาใช้ห้องประชุมในมหาลัยเพื่อใช้เคลื่อนไหวจัดประชุมทางการเมือง หรือแม้กระทั่งออกมาโจมตี ศรีเมือง เจริญศิริ รมว. กระทรวงศึกษาธิการ และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจาก สมัคร สุนทรเวช ว่าเป็นนอมินีของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านภายในมหาลัยต่อตัวสุรพล จนประชาคมธรรมศาสตร์ออกมาแถลงการณ์ต่อต้านที่สุรพลสนับสนุนแนวทางของพันธมิตร ที่ให้เจ้าหน้าที่ทำการอารยะขันขืนต่ออำนาจรัฐ
ในสมัยรัฐบาลทหารของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ได้อำนาจมาโดยปฏิวัติล้มรัฐบาลของ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร สุรพลเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนแปรรูปมหาวิทยาลัย โดยนำของ ศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน ผู้เป็น รมว. กระทรวงศึกษาธิการ ในขณะนั้น ซึ่ง ทำให้กลุ่มนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาประท้วง เนื่องจากเกรงว่าการเปลี่ยนแปลงสถานภาพจะมีผลให้ ทางมหาลัยสามารถเรียกเก็บค่าหน่วยกิจแพงขึ้นซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเหล่าพ่อแม่ผู้ปกครองนักศึกษา และ สามารถปิดสาขาวิชาที่มีนักศึกษาน้อย และไม่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา จึงก่อให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาลัย แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากในขณะที่ สุรพลดำรงตำแหน่งอยู่ แต่เมื่อสุรพลพ้นจากตำแหน่งอธิบการบดี กลุ่มนักศึกษาโดยนำของ ปราบ รักไฉไล ลุกขึ้นแสดงออกถึงการต่อต้านโดย "กรวดน้ำคว่ำขัน" โดยกลุ่มนักศึกษากล่าวหาสุรพลว่า สนับสนุนรับใช้อำนาจนอกระบบ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผศ.วรรณี สำราญเวทย์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร จึงทำจดหมายแจ้งไปทางสื่อมวลชนว่า ปราบ รักไฉไล ไม่ได้เป็นนักศึกษาของธรรมศาสตร์ และเกรงว่าจะเป็นบุคคลภายนอกแอบอ้างว่าเป็นนักศึกษา จัดกิจกรรมโจมตีสุรพล ซึ่งหลังจากข่าวถูกตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ ในวันต่อมาปราบ รักไฉไล ได้ส่งหลักฐานการเป็นนักศึกษาไปให้สื่อมวลชน รวมถึงจดหมายรับรองจาก รองศาสตราจารย์พิภพ อุดร โดยปราบ กล่าวว่าตนใช้ชื่อจริง แต่กลัวภัยจากกลุ่มล่าแม่มดจึงจำเป็นต้องใช้นามสกุลแฝง
ในวันที่ 26 ธันวาคม 2553 มีการรายงานผ่านทางสื่อหนังสือพิมพ์ว่า มีเว็บไซต์ให้ซื้อขายปริญญาบัตรมหาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผู้ที่ต้องการซื้อนั้นเพียงแค่จ่ายค่าลงทะเบียน ก็ได้ใบจบพร้อมกำหนดเกรดที่จบได้ นอกจากนี้ยังกล่าวว่ามีการตรวจสอบพบว่ามีมหาลัยรัฐอีกหลายแห่งที่ดำเนินการดังกล่าวอยู่ ซึ่งขณะนั้นสุรพลได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ทว่า ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีคนปัจจุบัน ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า กรณีเว็บไซต์ที่ขายปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตนได้ทราบเรื่องนี้มาตั้งแต่ในสมัยที่สุรพลเป็นอธิการบดีแล้ว ซึ่งตนสอบสวนอยู่